อัฏฐังคิกมรรค คือหนทางเก่าที่ทรงพบใหม่

ภิกษุ ท. !     เปรียบเหมือนบุรุษเที่ยวไปในป่าทึบ  เกิดรอยทางซึ่งเคย
เป็นหนทางเก่า  ที่มนุษย์แต่กาลก่อนเคยใช้เดินแล้ว.  บุรุษนั้นจึงเดินตามทางนั้น
ไป เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครซึ่งเป็นราชธานีโบราณ อันมนุษย์
ทั้งหลายแต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว  เป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยสวน  สมบูรณ์ด้วย
ป่าไม้ สมบูรณ์ด้วยสระโบกขรณี มีซากกำแพงล้อม มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์.

ภิกษุ ท. !  ลำดับนั้น บุรุษนั้นเข้าไปกราบทูลแจ้งข่าวนี้แก่พระราชาหรือแก่มหา
อำมาตย์ของพระราชาว่า “ขอท้าวพระกรุณาจงทรงทราบเถิด : ข้าพระเจ้าเมื่อ
เที่ยวไปในป่าทึบ ได้เห็นรอยทางซึ่งเคยเป็นหนทางเก่า ที่มนุษย์แต่กาลก่อนเคย
ใช้เดินแล้ว.  ข้าพเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่  ได้พบซาก
นครซึ่งเป็นราชธานีโบราณ  อันมนุษย์ ท.  แต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว  เป็นที่
อันสมบูรณ์ด้วยสวนสมบูรณ์  ด้วยป่าไม้สมบูรณ์  ด้วยสระโบกขรณี  มีซาก
กำแพงล้อม  มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์.   ขอพระองค์จงปรับปรุงสถานที่นั้นให้เป็น
นครเถิด  พระเจ้าข้า !“    ดังนี้.

ภิกษุ ท. !     ลำดับนั้น พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชานั้น จึง
ปรับปรุงสถานที่นั้นขึ้นเป็นนคร. สมัยต่อมา นครนั้นได้กลายเป็นนครที่มั่งคั่ง
และรุ่งเรือง    มีประชาชนมาก    เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์   ถึงแล้วซึ่งความเจริญ
ไพบูลย์,   นี้ฉันใด ;    ภิกษุ ท. !    ข้อนี้ก็ฉันนั้น   :   เราได้เห็นแล้วซึ่งรอยทางเก่า
ที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรง
ดำเนินแล้ว.

ภิกษุ ท. !     ก็รอยทางเก่า    ที่เคยเป็นหนทางเก่า  อันพระสัมมาสัม-
พุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว  นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเทียว ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ภิกษุ ท. !   นี้แล รอยทางเก่าที่เป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
ในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว.  เรานั้น ได้ดำเนินไปตามแล้วซึ่งหนทางนั้น.
เมื่อดำเนินไปตามแล้วซึ่งหนทางนั้นอยู่, เราได้รู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งชรามรณะ,  ซึ่ง
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ, ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ซึ่งข้อปฏิบัติ
เครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ;

(ข้อความต่อไปนี้ ได้ตรัสถึง ชาติ – ภพ – อุปาทาน – ตัณหา – เวทนา – ผัสสะ – สฬายตนะ –
นามรูป – วิญญาณ – สุดลงเพียง – สังขาร (แต่ละอย่าง) โดยอาการทั้งสี่      ดังที่ได้ตรัสในกรณีแห่ง
ชรามรณะ เหมือนกันทุกตัวอักษร  เว้นแต่ชื่อของตัวปฏิจจสมุปปันธรรมนั้น ๆ เท่านั้น).

ภิกษุ ท. !     เรานั้น, ครั้นรู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งหนทางนั้น, ได้บอกแล้วแก่
ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. !     พรหมจรรย์นี้ ที่เรากล่าวบอกแล้วนั้น ได้เป็น พรหมจรรย์
ตั้งมั่น และรุ่งเรืองแล้ว เป็นพรหมจรรย์แผ่ไพศาล เป็นที่รู้แห่งชนมากเป็น
ปึกแผ่นแน่นหนา   จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสามารถประกาศได้
ด้วยดีแล้ว,   ดังนี้.
– นิทาน.สํ.๑๖/๑๒๘/๒๕๓.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒
ภาค ๔ ว่าด้วย มัคคอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐคือมรรค หน้าที่ ๘๔๔/๑๕๗๒

About เนื้อแท้ที่ไม่อันตธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตธาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

ใส่ผลลัพธ์ให้ถูกค่ะ *