ภิกษุ ท. ! กรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน.
กรรม ๔ อย่าง อย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่. ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว
มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่. ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว
เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคล
บางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน,
ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง มโน-
สังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม)
ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ; ผัสสะทั้งหลาย
อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไป
ด้วยความเบียดเบียน ; เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว
ย่อม เสวยเวทนา ที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน อัน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว,
ดังเช่นพวกสัตว์นรก. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ.ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. !
บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันไม่เป็นไปกับด้วยความ
เบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อม
ปรุงแต่ง มโนสังขาร อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ครั้นเขาปรุงแต่ง
สังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน;
ผัสสะทั้งหลาย ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลก
อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ; เขาอันผัสสะที่ไม่เป็นไปกับด้วยความ
เบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนา ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว, ดังเช่นพวกเทพสุภกิณหา.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่ากรรมขาว มีวิบากขาว.ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไปกับด้วย
ความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง, ย่อมปรุงแต่ง วจี-
สังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
บ้าง, ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไป
กับด้วยความเบียดเบียนบ้าง, ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม
เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความ
เบียดเบียนบ้าง ; ผัสสะทั้งหลาย ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่
เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปกับด้วย
ความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ; เขาอันผัสสะ
ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง
ถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนา ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่
เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง อันเป็นเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เจือกัน,
ดังเช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก. ภิกษุ ท. ! นี้
เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. !
นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล กรรม ๔ อย่าง ที่เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วกัน.
– จตุกฺกฺ. อํ. ๒๑/๓๒๐ – ๓๒๑/๒๓๗.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒
ภาค ๔ ว่าด้วย มัคคอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐคือมรรค หน้าที่ ๘๖๓/๑๕๗๒