ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน ถ้วยดื่มสำริดมีเครื่องดื่มใส่อยู่แล้วชนิดหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่า มียาพิษปนติดอยู่.
ครั้งนั้น มีบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังร้อนจัด มีความร้อนระอุไปทั้งตัว เหน็ดเหนื่อย คอแห้งระหายน้ำมาถึงเข้า.
คนทั้งหลาย บอกแก่บุรุษนั้นว่า “นี่แน่ะท่านผู้เจริญ, ถ้วยดื่มสำริดใบนี้มีเครื่องดื่ม สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส สำหรับท่าน;
แต่ว่ามียาพิษปนติดอยู่. ถ้าหากท่านต้องการดื่มก็ดื่มได้, เมื่อท่านกำลังดื่ม จักติดใจมันด้วยสีของมันบ้าง ด้วยกลิ่นของมันบ้าง ด้วยรสของมันบ้าง; แต่ว่าครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ท่านจักถึงความตาย หรือรับทุกข์เจียนตาย เพราะเหตุนั้น” ดังนี้.
บุรุษนั้นไม่ทันจะพิจารณาถ้วยดื่มสำริดอันนั้น (ว่าจะควรดื่มหรือไม่ควรดื่มอย่างไรเป็นต้น)
รีบดื่มเอา ๆ ไม่ยอมวาง. บุรุษนั้น ก็ถึงความตาย หรือรับทุกข์เจียนตาย เพราะเหตุนั้น ฉันใด ;
ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ในกาลอดีตก็ตาม, ในกาลอนาคตก็ตาม, ในกาลบัดนี้ก็ตาม,
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ย่อมเห็นสิ่งอันเป็นที่รักที่สนิทใจในโลก โดยความเป็นของเที่ยงโดย ความเป็นสุขโดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่เสียบแทง โดยความเป็นของเกษม ;
สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมทำตัณหาให้เจริญ. เมื่อทำตัณหาให้เจริญอยู่ ก็ทำอุปธิให้เจริญ. เมื่อทำอุปธิให้เจริญอยู่ก็ทำทุกข์ให้เจริญ.
เมื่อทำทุกข์ให้เจริญอยู่ สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น
ย่อมไม่หลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ;
เราตถาคตย่อมกล่าวว่า “พวกเหล่านั้น ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์” ดังนี้ แล.
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หมวดที่ ๘ ว่าด้วย พิษสงทางใจ
หน้าที่ ๑๕๖/๔๖๖